หวานเป็นลมขมเป็นขี้เหล็ก

วันอังคารที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556


     
           หากขี้เหล็กมีรสหวานหรือจืด หลายคนอาจชอบใจ ต๊ายตาย กินง่ายจริงๆ แต่หากขี้เหล็กปราศจากรสขม จะเป็นขี้เหล็กไปได้อย่างไร และสรรพคุณช่วยให้นอนหลับจะเหลือได้อย่างไร ขี้เหล็กจึงไม่ควรมีรสจืดหรือหวาน เพราะคงไม่มีใครนำขี้เหล็กไปทำไอติมขี้เหล็กหรือเค้กขี้เหล็กเป็นแน่

         ขี้เหล็กเป็นไม้ที่มีคุณต่อผืนดิน รากของขี้เหล็กที่ชอนไชไปในดินที่คุณูปการตามธรรมชาติ ยังผลให้เกิดความอุดมสมบูรณ์ดี เช่นเดียวกับพวกกระถิน
         ใช่แต่นักวิชาการ ชาวบ้านเองก็รู้เรื่องแบบนี้ อย่างสรรพคุณของขี้เหล็กที่ว่ามี "ฤทธิคุณ" ทำให้นอนหลับดีก็เช่นกัน
          ตานชนบทมีต้นขี้เหล็กขึ้นอยู่ทั่วไป ต้นไหนกินดีจะเป็นที่รู้กัน การเก็บขี้เหล็กเขาจะหักเอามาทั้งกิ่งเลยครับ ไม่ต้องกลัวมันเจ็บ และอีกไม่นานก็แตกกิ่งก้านใหม่งอกมาทดแทนมีให้หักเด็ดไม่ขาดตอนตลอดฤดูกาล
          "แกงขี้เหล็ก" ยังเป็นแกงสามัญประจำบ้านในชนบทอยู่ครับเด็กบ้านนอกทุกคนคุ้นเคยดี ลูกชายผมก็ชอบกินครับ
          ผมได้กินแกงขี้เหล็กอยู่บ่อยๆ เพราะมีคนทำให้กิน ผมจะบอกคนทำ (คุณตาของลูกชาย) ว่า ไม่ต้องต้มถึง 3 น้ำ เอาแค่น้ำเดียวก็พอ ขอคงความขมของขี้เหล็กไว้มากๆ หน่อย
          กินแกงขี้เหล็กอย่ากลัวขมเลยครับ เพราะความขมนั้นแหละคือ "ฤทธิคุณ" ของขี้เหล็ก ยิ่งกินมื้อเย็นจะนอนหลับสบายทั้งคืนหรือจะแกงแบบ "ป่าๆ" ก็ดีครับ โดยแกงกับปลาแห้ง
          ตามตลาดสดทั้งเช้าและบ่าย ผมเห็นดอกขี้เหล็กต้มวางขายเป็นจานๆ จานละ 10 บาทเท่านั้นเอง สะดวกสบายเพราะไม่ต้องปีนขึ้นไปเก็บบนต้นไม้มดแดงกัด แต่ก็นั่นแหละครับดอกขี้เหล็กที่แม่ค้าต้มมาขายมักมีรสจืดสนิท
          เพราะคนส่วนมากกลัวขมโดยไม่สำเหนียกคำโบราณที่ว่าหวานเป็นลม ขมเป็นยา

ที่มา : หนังสือนิตยสารชีวจิต  "เรื่อง มนต์รักผักพื้นบ้าน" ประจำวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2556

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น