ผักปลังสารพันประโยชน์ต่อสุขภาพ

วันเสาร์ที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556


    
        ประเทศไทยมีความหลายหลากทางพันธุ์พืชสูงมากประเทศหนึ่งในโลก ด้วยปริมาณพืชที่มีมากนับหมื่นชนิด อีกทั้งคนไทยในอดีตรู้จักใช้ประโยชน์จากพืช ทั้งผักและผลไม้ที่มีอยู่แล้วทั่วไปรอบถิ่นที่อยู่อาศัย ซึ่งเรียกกันติดปากว่า พืชผักพื้นบ้าน นั่นเอง นิยมนำมากินเป็นอาหารและยารักษาโรค
เนื่องจากพืชผักและผลไม้พื้นบ้านเหล่านี้มีสีสันและรสชาติต่างๆ กัน ซึ่งสีต่างๆ เหล่านั้นบ่งบอกถึงสารสำคัญที่มีอยู่ต่างชนิดกัน เช่น สีแดง – เหลืองของสารบีตาแคโรทีน (betacarotene) ในฟักทอง มะละกอสุก มะเขือเทศ เป็นต้น และรสชาติต่างๆ ของพืชพื้นบ้านเหล่านี้ล้วนเป็นสรรพคุณทางยาทั้งสิ้น
ทั้งหมดนี้เป็นความรู้ที่สืบเนื่องกันมาและถ่ายทอดสู่คนรุ่นหลัง และกลายเป็น ภูมิปัญญาท้องถิ่น” ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขได้รณรงค์ให้คนไทยกินผักพื้นบ้าน เพราะมีคุณประโยชน์ต่อร่างกายหลายอย่าง
ปัจจุบัน คนไทยตื่นตัวเรื่องอาหารเพื่อสุขภาพและมีการพูดถึงผักพื้นบ้านมากขึ้น ซึ่งนอกจากจะเป็นเพราะคุณประโยชน์ต่อร่างกายตามที่ทราบกันดีอยู่แล้ว
ข้อเด่นของผักพื้นบ้านอีกประการคือเรื่องความปลอดภัย เพราะพืชผักพื้นบ้านได้ชื่อว่าปลอดสารพิษเนื่องจากสามารถเกิดและเจริญเติบโตได้ตามธรรมชาติ และมีภูมิต้านทานต่อการเกิดโรคจากแมลงศัตรูพืชต่างๆ ดังนั้น จึงไม่จำเป็นต้องใช้สารพิษฆ่าแมลงเหมือนผักเมืองหรือผักแปลง
หลายคนที่นิยมกินผักพื้นบ้านเป็นประจำอยู่แล้วแต่เมื่อเอ่ยชื่อ ผักปลัง” ก็อาจมีคนที่ไม่รู้ว่าคือผักอะไรดังนั้น ผู้เขียนขอนำเสนอ “ผักปลัง” ซึ่งเป็นอีกทางเลือกหนึ่งเพื่อประโยชน์ต่อสุขภาพ
          
 ผักปลัง…  และถิ่นกำเนิด
            ผักปลังมีชื่อพื้นเมืองว่า ผักปั๋ง เป็นผักพื้นบ้านของไทยที่พบเห็นตามที่ชื้นทั่วไป มี 2 ชนิด แตกต่างกันที่สีของลำต้น ชื่อวิทยาศาสตร์ของผักปลังที่ลำต้นมีสีเขียวธรรมชาติ (หรือผักปลังขาวคือ Basella alba Linn.สำหรับผักปลังที่ลำต้นสีม่วงแดง มีชื่อวิทยาศาสตร์ Basella rubra Linn.ผักปลังทั้ง 2 ชนิดอยู่ในวงศ์ Basellaceae ถิ่นกำเนิดของผักปลังอยู่ในเองเชียและแอฟริกาขึ้นง่ายในดินแทบทุกสภาพแต่จะเจริญเติบโตได้ดีในบริเวณที่ชุ่มชื้น

ลักษณะทั่วไปของผักปลัง
          ผักปลังเป็นไม้เลื้อย มีลำต้นกลมเป็นสีเขียวหรือสีม่วงแดง อวบน้ำ ไม่มีขนและสามารถแตกกิ่งก้านสาขาได้มาก
          ใบ ผักปลังมีใบลักษณะมัน รูปร่างกลมหรือเป็นรูปไข่เรียงสลับกัน แผ่นใบอวบน้ำ ขนาดใบกว้าง  2-6 เซนติเมตร และยาว 2.4 – 7.5 เซนติเมตร
             เถา มีลักษณะอวบน้ำและยาวได้หลายเมตรสามารถแตกกิ่งก้านสาขาได้มาก
          นอกจากใบและยอดของเถาที่นำมาปรุงกิน ก็ยังมีดอกผักปลังที่มีสีขาวหรือชมพูม่วง ไม่มีก้านดอกดอกออกเป็นช่อตามซอกใบ กลีบดอกเชื่อมติดกันเป็นท่อ ตรงปลายแยกเป็นแฉก
           ผล ผักปลังมีผลสีเขียวและเปลี่ยนเป็นสีม่วงอมดำเมื่อแก่      เนื้อผลนิ่ม ภายในผลมีน้ำสีม่วงดำหรือสีขาว
การปลูกและขยายพันธุ์
       ผักปลังเป็นพืชที่ปลูกง่ายเช่นเดียวกับผักพื้นบ้านทั่วไป ออกยอดเกือบตลอดปี ชาวบ้านภาคอีสานและภาคเหนือมักนำไปปลูกบริเวณรั้วบ้านเพื่อให้เถาผักปลังเลื้อยขึ้นตามรั้ว
         ผักปลังขยายพันธุ์ได้ 2 วิธีคือ การเพาะเมล็ดและการชำกิ่งแก่การเพาะเมล็ดทำได้โดยนำเมล็ดแก่ไปตากแห้งแล้วนำไปชำในถุงพลาสติกหรือกระถาง รอจนเกิดต้นอ่อนแล้วนำไปปลูกตามริวรั้วหรือสร้างค้างให้เลื้อยเนื่องจากเป็นพืชอุ้มน้ำจึงนิยมปลูกในช่วงต้นฤดูฝนหรือในเดือนพฤษภาคมเป็นต้นไป
 ประโยชน์ต่อสุขภาพของผักปลัง
          ประโยชน์ทางอาหาร
          คุณค่าทางอาหารของผักปลังนั้นมีมากทีเดียวเพราะมีวิตามินและเกลือแร่อยู่ไม่น้อย โดยเฉพาะ   สารบีตาแคโรทีน มีเมื่อกินเข้าในร่างกายจะถูกเปลี่ยนเป็นวิตามินบำรุงสายตาได้ แล้วยังมีคุณสมบัติเป็นสารช่วยป้องกันมะเร็งด้วย
          โดยทั่วไปเราจะนำยอดอ่อน ใบอ่อน และดอกอ่อนซึ่งมีรสจืดเย็น มากินในรูปผักสดจิ้มกับน้ำพริกหรือนำมาปรุงอาหารก็ได้ เช่น แกงต่างๆ (แกงส้ม แกงแค แกงปลาผัดกับแหนม หรือใส่แกงอ่อมหอย อีกด้วย

คุณค่าทางโภชนาการของผักปลัง 100 กรัม มีดังนี้
พลังงาน                 21           กิโลกรัม

เส้นใยอาหาร        0.8          กรัม

แคลเซียม              4              มิลลิกรัม
ฟอสฟอรัส            50           มิลลิกรัม
เหล็ก                      1.5          มิลลิกรัม
วิตามินเอ               9,316     หน่วยสากล(IU)
วิตามินซี                26           มิลลิกรัม
วิตามินบีหนึ่ง       0.07        มิลลิกรัม
วิตามินบีสอง        0.20        มิลลิกรัม
ไนอาซิน               1.1          มิลลิกรัม


ประโยชน์ทางยา
    ก้าน  แก้พิษฝี พรรดึก ท้องผูก ลดไข้
   ใบ  ขับปัสสาวะ แก้อาการอักเสบ กลาก น้ำคั้น จากใบใช้บรรเทาอาการผื่นคัน
   ดอก  แก้เกลื้อน
   ราก  แก้มือเท้าด่าง รังแค พิษพรรดี (อาการต่างๆ ที่เกิด จากท้องผูก ถ่ายเป็นก้อนแข็งคล้ายขี้แพะ)
 งานวิจัยที่เกี่ยวกับผักปลัง
        ผลการวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสารวิทยาศาสตร์ พ.. 2555 นี้เองโดยนักวิทยาศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัย Yaounde ในประเทศแคเมอรูน พบว่าสารสกัดเมทานอลจากผักปลังสามารถเพิ่มสมรรถภาพทางเพศในเพศชายได้ อย่างไรก็ตาม งานวิจัยนี้ศึกษากับเซลล์สืบพันธุ์ของหนูทดลองเท่านั้น ไม่ได้ทำการศึกษากับเซลล์สืบพันธุ์เพศชายในมนุษย์โดยตรง
        จากผลการวิจัยดังกล่าวได้นำไปสู่การพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่มีสรรพคุณในการส่งเสริมการทำงานของฮอร์โมนเทสโทสเตอโรน (testosterone – boosting supplement) สำหรับลดการเป็นหมันและในงานวิจัยเดียวกันนั้นพบว่าสารสกัดเมทานอลของผักปลังที่ความเข้มข้น 10-100 ไมโครกรัมต่อมิลลิกรัม ไม่ก่อให้เกิดความเป็นพิษต่อเซลล์
        นอกจากนี้ ยังมีข้อมูลการศึกษาความปลอดภัยโดยให้หนูทดลองกินสารสกัดเอทานอลของผักปลังขนาด 1 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัมน้ำหนักตัว (1 mg/kg) นานติดต่อกัน 2 เดือน ไม่พบความเป็นพิษต่อตับและไตของหนู
     ปี 2555 นี้เช่นกัน ที่นักวิจัยอินเดียได้ตีพิมพ์ผลงานวิจัยเกี่ยวกับการทดสอบผลของสารสกัดจากใบผักปลังด้วยเอทานอลและน้ำในหนูถีบจักร (mice) โดยกรอกสารสกัดน้ำของใบผักปลังขนาด 100-200 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัมน้ำหนักตัวให้แก่หนูเป็นเวลา 14 วัน ไม่พบความผิดปกติของค่าทางโลหิตวิทยา และสำหรับหนูขาว (Wistar rats) ที่กินสารสกัดใบผักปลังด้วยเอทานอล น้ำ และเฮกเซน ติดต่อกันนาน 7 วัน พบว่าหนูขาวที่ได้รับสารสกัดด้วยเอทานอลและเฮกเซนจากใบผักปลัง มีปริมาณน้ำย่อยอะไมเลส (amylase) เพิ่มขึ้น ซึ่งน้ำย่อยนี้ทำหน้าที่ย่อยแป้งในปากให้เป็นน้ำตาลมอลโทส (maltose) ซึ่งเป็นกลไกหนึ่งในการลดภาวะเสี่ยงเป็นเบาหวานได้
     สำหรับประเทศไทย สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) โดยฝ่ายเภสัชและผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ ได้ดำเนินโครงการวิจัยระหว่างปี 2552-2555 เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์เสริมอาหารและผลิตภัณฑ์อาหารแคลอรีต่ำจากเส้นใยอาหารในผักพื้นบ้าน โดยเลือกผักปลังเป็นวัตถุดิบในการวิจัย พบว่านอกจากจะเป็นผักพื้นบ้านที่มีคุณค่าทางโภชนาการแล้ว ยังมีปริมาณเส้นใยอาหารสูงกว่าผักพื้นบ้านชนิดอื่น รวมทั้งสารสกัดจากผักปลังยังมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระที่น่าสนใจด้วย ดังนั้น วว.จึงจะต่อยอดผลงานวิจัยออกสู่เชิงพาณิชย์ในอนาคตอันใกล้นี้
ที่มา : หนังสือนิตยสารหมอชาวบ้าน “ บทความพิเศษ ” ประจำเดือนมกราคม 2556

2 ความคิดเห็น:

Unknown กล่าวว่า...

เพิ่งรู้ว่าผักปังมีประโยชน์มากมายผักที่ขึ้นตามรั้วบ้านมองข้ามมาตั่งนานปกติไม่ค่อยได้สนใจเลยพอขึ้นต้นเล็กๆก็ถอนทิ้งเลยเพราะไม่รู้ถึงคุณประโยชน์ต่อแต่นี้ต้องอนุรักษ์ไว้

nunty deedom กล่าวว่า...

ชอบค่ะ. อร่อย. นิ่มและลื่นลงคอง่ายดี รับประทานแล้วสดชื่นค่ะ เพราะชอบ. ต้มจิ้มน้ำพริก แกงรวมผัก. แกงส้มกุ้งสด

แสดงความคิดเห็น